วันอาทิตย์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2551

๑.ความหมายของกฎหมาย

๑. ความหมายของกฎหมาย
ความหมายของ “กฎหมาย” ในพนจานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน(๒๕๔๒) อธิบายว่าหมายถึง “กฎที่สถาบันหรือผู้มีอำนาจสูงสุดในรัฐตราขึ้นหรือที่เกิดขึ้นจากจารีตประเพณีอันเป็นที่ยอมรับนับถือ เพื่อใช้ในการบริหารประเทศ เพื่อใช้บังครับบุคคลให้ปฏิบัติตาม หือเพื่อกำหนดระเบียบแห่งความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลหรือระหว่าบุคคลกับรัฐ”
ใน Black’s Law Dictionary อธิบายคำว่า “กฎหมาย” ไว้หลายนัย เช่น หมายถึง
- ตัวกฎข้อบังครับการกระทำหรือความประพฤติโดยองค์อำนาจที่ควบคุมอยู่และมีความผูกพันทางกฎหมาย
- คำสั่งที่ผูกพันให้บุคคลปฏิบัติตามหรือไม่ปฏิบัติตามในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
- สิ่งที่ต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามโดยประชาชน มิฉะนั้นจะถูกบังคับหรือต้องรับผลทางกฎหมาย
นอกจากนี้มีความเห็นว่า กฎหมาย คือ บรรดากฎ ข้อบังคับทั้งหลายที่มีลักษณะที่จะใช้บังคับแก่ประชาชนได้ สิ่งใดใช้บังคับไม่ได้ไม่ถือว่าเป็นกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม เราคงต้องพิจารณาความหมายของกฎหมายในเชิงปะวัติความเป็นมาและวิวัฒนาการของมนุษย์ด้วย เมื่อเป็นเช่นนั้นจะทำให้เห็นภาพของกฎหมายได้กว้างขึ้นอย่างมีคุณค่า
๑.๑ ความหมายตามลักษณะการเกิดขึ้นและวิวัฒนาการของมนุษย์
ความหมายในแนวนี้อธิบายว่า กฎหมาย คือ กฎเกณฑ์ที่เป็นแบบแผนความประพฤติของมนุษย์ในสังคมซึ่งมีกระบวนการบังคับที่เป็นกิจจะลักษณะ
ความหมายของกฎหมายดังกล่าวมาจากการศึกษาวิเคราะห์ในแง่นิติศาสตร์ว่าด้วยข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและมีอยู่ในสังคม โดยการศึกษาจากประวัติศาสตร์กฎหมายและสังคมวิทยากฎมาย พบว่ามนุษย์กับกฎหมายมีวิวัฒนาการมาพร้อมกันอย่างเป็นด้วยแหล่งที่มาเป็นสามชั้นซ้อนทับถมกันอยู่ เรียกว่า กฎหมายสามชั้น แบ่งได้เป็น
ยุคแรกเรียกว่า กฎหมายชาวบ้าน (Volksecht) กฎหมายในยุคนี้ปรากฏในรูปพฤติกรรมของการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอติดต่อกันมาจนเป็นที่รู้และยอมรับซึ่งกันและกัน กลายเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีง่าย ๆ สืบทอดจกบรรพบุรุษ การรู้ข้อถูกผิดได้โดยอาศัยเหตุผลธรรมดาของคนทั่วไปหรือโดยสามัญสำนึก มาเป็นเครื่องชี้วัดความถูกผิด หากมีการฝ่าฝืนจะถูกโต้ตอบจากคนในชุมชนเอง ในยุคนี้กฎหมายกับศีลธรรมไม่แตกต่างกันมากนัก เพราะการทำผิดศีลธรรมก็คือผิดกฎหมาย หากพิจารณาในแง่กฎหมายอาญา เช่น การทำร้ายกัน การฆ่ากัน หรือการลักทรัพย์ เป็นตัวอย่างความผิดที่เป็นกฎหมายชาวบ้าน เพราะการกระทำเหล่านี้สามารถรู้ได้ด้วยตนเองว่าสิ่งเหล่านี้ผิด ส่วนในกฎหมายแพ่ง ได้แก่ เรื่องสัญญาต้องได้รับการปฏิบัติตามสัญญา เรื่องการอยู่กินฉันสามีภริยา เรื่องการเคารพกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินผู้อื่น เป็นต้น
กฎหมายยุคต่อมาเรียกว่า กฎมายของนักกฎหมาย เป็นยุคที่มีการใช้เหตุผลปรุงแต่งทางกฎหมาย โดยนักนิติศาสตร์ เกิดเป็นกลักกฎหมายจากการชี้ข้อพิพาทในคดีเป็นเรื่อง ๆ ไป กฎหมายยุคนี้จึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจรู้ได้โดยอาศัยสามัญสำนึกแต่เพียงอย่างเดียว ต้องศึกษาเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง ได้แก่ หลักเรื่องอายุความ หลักเรื่องการรอบครองปรปักษ์ ในกฎหมายแพ่ง หลังเรื่องการป้องกัน หลักเรื่องจำเป็น ในกฎหมายอาญา เป็นต้น
กฎหมาในยุคที่สามเรียกว่า กฎหมายเทคนิค กฎหมายยุนี้ไม่ได้เกิดจากจารีตประเพณีเพราะสังคมเจริญมากขึ้น ปัญหาบางเรื่องซับซ้อนขึ้น เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าจึงต้องมีการบัญญัติกฎหมายขึ้นเป็นพิเศษด้วยเหตุผลทางเทคนิคบางประการ ตัวอย่าง กฎหมายในยุคนี้ได้แก่ กฎหมายจราจรทางบก กฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร กฎหมายที่กำหนดให้ไปจดทะเบียน กฎหมายป่าไม้ เป็นต้น กฎหมายเทคนิคจึงมีพื้นฐานจากศีลธรรมน้อยมาก การควบคุมลงโทษผู้ฝ่าฝืนไม่ได้ผล จึงต้องมีกระบวนการบังคับอย่างเป็นกิจจะลักษณะและมีโทษค่อนข้างสูง
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการที่ไม่มีศีลธรรมเป็นพื้นฐานในการกำหนดความถูกผิด ในทางกฎหมายอาญา ความผิดที่มีลักษณะเป็นกฎหมายเทคนิคนั้น ผู้กระทำผิดอาจอ้างความไม่รู้กฎหมายขึ้นเป็นข้อแก้ตัวได้ และศาลอาจจะอนุญาตให้นำสืบความไม่รู้นั้นได้
๑.๒ ความหมายตามแนวคิดแบบ Legal Positivism
ความหมายของกฎหมายในลักษณะนี้ สืบเนื่องมาจากการเกิดขึ้นของรัฐสมัยใหม่ เรื่องอำนาจอธิปไตย และความเชื่อแบบวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 16 ในยุโรปเรื่อยมา โดยเป็นแนวคิดที่เชื่อว่ากฎหมายเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดขึ้นโดยรัฐภายใต้อำนาจอธิปไตย รัฐย่อมมีอำนาจบัญญัติกฎหมายโดยปราศจากข้อจำกัด ดังนั้นจึงอธิบายว่า กฎหมายคือคำสั่งของรัฏฐาธิปัตย์ หรือผู้มีอำนาจสูงสุดในแผ่นดิน หากไม่ปฏิบัติตามแล้วจะต้องรับโทษ
สำหรับประเทศไทย แนวคิดนี้ได้เริ่มเข้ามาแพร่ขยายตั้งแต่ในสมัยราชกาลที่ ๕ จากการที่ต้องเปิดประเทศเพื่อรับอิทธิพลของต่างชาติตะวันตก ซึ่งในขณะนั้นความคิดทางกฎหมายแบบ Legal Positivism แพร่หลายมากในยุโรป รวมทั้งมีนักกฎหมายบางท่านสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษจึงได้รับแนวคิดและมาอธิบายความหมายของกฎหมาย ในยุคแรก ได้แก่ “พระเจ้าบรมวงศ์กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ อธิบายว่า กดหมายนั้นคือเปนข้อบังคับของผู้ซึ่งมี อำนาจในบ้านเมือง เมื่อผู้ใดไม่กระทำตมแล้วต้องโทษ” นักกฎหมายยุคต่อมาต่างก็อธิบายความหมายไปในทำนองเดียวกัน เช่น ศาสตราจารย์หลวงจำรูญ เนติศาสตร์ อธิบายว่า “กฎหมาย ได้แก่ กฎข้อบังคับว่าด้วยการปฏิบัติซึ่งผู้มีอำนาจของประเทศได้บัญญัติขึ้นและบังคับให้ผู้ที่อยู่ในสังกัดของประเทศนั้นถือปฏิบัติตาม” และศาสตราจารย์ ดร. หยุด แสงอุทัย ก็อธิบายว่า กฎหมาย ได้แก่ ข้อบังคับของรัฐซึ่งกำหนดความประพฤติของมนุษย์ ถ้าฝ่าฝืนจะได้รับผลร้ายหรือลงโทษ
ดังนั้นในห้วงเวลาที่ผ่านมานั้น แนวคิดทางกฎหมายในแบบ Legal Positivism หรือสำนักกฎหมายบ้านเมือง ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการปัญหาและพัฒนาบ้านเมืองโดยถือว่ากฎหมายเป็นผลผลิตของอำนาจรัฐ จึงเน้นเรื่องความสูงสุดของอำนาจรัฐ เน้นเรื่องคำสั่ง และการต้องมีผลบังคับหรือบทลงโทษ มีการสรุปไปจนถึงกับว่า “อำนาจบังคับ” เป็นสาระสำคัญที่ขาดไม่ได้ของกฎหมายแนวนี้
สำหรับความหมายของกฎหมายในโลกกฎหมายในโลกตะวันตกนั้น มีอีกหลายแนวคิดที่อธิบายความหมายในรูปแบบต่างกันไป เช่น
สำนักกฎหมายธรรมชาติ อธิบายว่า กฎหมายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและมีอยู่ตามธรรมชาติ กฎหมายธรรมชาติมีค่าสูกว่ากฎหมายที่มนุษย์บัญญัติขึ้น และใช้ได้ไม่จำกัดกาลเทศะ หากกฎหมายที่มนุษย์บัญญัติขึ้น ขัดหรือแย้งกับกฎหมายธรรมชาติ ย่อมเป็นโมฆะหรือไม่มีค่าบังคับใด ๆ ส่วนสำนักกฎหมายประวัติศาสตร์ อธิบายว่า กฎหมายเป็นผลิผลิตจากจิตวิญญาณประชาชาติ ของคนในชาตินั้น ๆ โดยมีรากเหง้าหยั่งลึกอยู่ในประวัติศาสตร์ของแต่ละชาติ กฎหมายเริ่มต้นในรูปแบบจารีตประเพณีของแต่ละชนชาติ และมีวิวัฒนาการ ตามเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมประเพณีและสภาพแวดล้อมของคนในชาตินั้น
นับตั้งแต่ศตวรรษที่ ๒๐ เป็นต้นมา มีแนวคิดเกี่ยวกับกฎหมายใหม่ ๆ เกิดขึ้นอีก เช่น ในทวีปยุโรป มีสำนักกฎหมายอิสระ ที่ต่อต้านการใช้กฎหมายแบบยึดติดกับตัวบทอย่างเคร่งครัด และเสนอให้ศาลตัดสินคดีโดยถือความยุติธรรมเป็นใหญ่ ไม่ต้องพะวงอยู่กับตัวบทมากนัก นอกจากนี้ในสหรัฐอเมริกาก็เกิดกระแสนิติศาสตร์เชิงวิพากษ์ ที่ตรวจสอบความเป็นกลางของกฎหมายและความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่แฝงอยู่ในทฤษฎีกฎหมายดั้งเดิม รวมทั้งแนวคิดแบบนิติสตรีศึกษา ที่ศึกษาว่ากฎหมายมีผลอย่างไรต่อผู้หญิง มีส่วนทำให้ผู้หญิงตกอยู่ในสภาพที่เสียเปรียบอย่างไร ตลอดจนศึกษาหาแนวทางแก้ไข
๑.๓ ความหมายในทางพระพุทธศาสนา
ความหมายของกฎหมายในโลกตะวันออก มาจากการศึกษาอารยธรรมของอินเดีย และจีน พบว่ากฎหมายได้ถูกอธิบายโดยแฝงอยู่กับหลักปรัชญาและในคำสอนของศาสนาพราหมณ์ และศาสนาพุทธ โดยในอดีตนั้น ประเทศในโลกตะวันออก ถือว่ากฎหมายเป็นเรื่องของคนชั้นสูงเท่านั้น อันได้แก่ กษัตริย์ ขุนนาง ที่จะเป็นผู้เกี่ยวข้องกับกฎหมาย ราษฎรทั่วไปจะเกี่ยวข้อง กับกฎน้อยมาก อีกทั้งในอดีตก็ไม่นิยมส่งเสริมให้ประชาชนเรียนรู้กฎหมาย เพราะกลัวจะกระด้างกระเดื่องและเป็นพวกเจ้าถ้อยหมอความทำให้ปกครองยาก
ในโลกตะวันออกซึ่งยึดถือวัฒนธรรมกฎหมาย แบบความสัมพันธ์ส่วนบุคคลมากกว่ายึดถือสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายเคร่งครัดอย่างตะวันตก สำหรับความหมายของกฎหมายในทางโลกตะวันออก ถือว่ามีกฎแห่งธรรมสูงกว่ากฎหมายที่มนุษย์สร้างขึ้น พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต) ได้อธิบายความหมายของกฎหมายแบบนิติศาสตร์แนวพุทธ พอสรุปได้ดังนี้
คำว่า นิติศาสตร์ หากแปลโดยทั่วไป หมายถึง วิชากฎหมาย แต่หากพิจารณาความหมายในภาษาสันสกฤต นิติ แปลว่า การนำ ดังนั้น นิติศาสตร์ แปลว่า ศาสตร์แห่งการนำ การนำในที่นี้คือการนำผู้คนและการนำกิจการของบ้านเมือง การนำดังกล่าวต้องมีระเบียบแบบแผนหรือเครื่องมือที่ใช้เป็นกติกาของสังคม ส่วนอีกคำหนึ่งคือ “ธรรมศาสตร์” แปลว่า วิชาว่าด้วยหลักการ (ธรรม หมายถึงหลักการ ศาสตร์ หมายถึงวิชาความรู้) ธรรมศาสตร์ ในความหมายเฉพาะ คือ ชื่อของคัมภีร์ที่ว่าด้วยข้อกำหนดความประพฤติปฏิบัติรวมทั้งขนบธรรมเนียมจารีตประเพณีอันสืบทอดกันมา แม้แต่กษัตริย์ยังต้องปฏิบัติตามหลักคำสอนของศาสนาฮินดูหรือพราหมณ์ เรียกว่า คัมภีร์มานวธรรมศาสตร์ ในทางพุทธศาสนา เรียกว่า คัมภีร์พระธรรมศาสตร์
ธรรมศาสตร์ในความหมายอย่างกว้าง หมายความว่า วิชาที่ว่าด้วยหลักการแห่งความเป็นจริงที่มีอยู่ในธรรมชาติและมนุษย์ผู้มีปัญญานำเอาความรู้ในความจริงนั้น มาจัดตั้งขึ้นเป็นแบบแผนให้ผู้คนในสังคมได้ยึดถือปฏิบัติ
ในทางพุทธศาสนา กฎหมายคืออะไรนั้น มีคำที่ใกล้เคียงกับกฎหมาย คือ “วินัย” ซึ่งมิได้ความหมายเฉพาะเรื่องที่เป็นกฎเกณฑ์ ระเบียบข้อบังคับในการปฏิบัติกิจการหน้าที่ความเป็นอยู่ แต่วินัยในทางพุทธศาสนา หมายถึง การจัดตั้งวางระบบแบบแผน วินัยเป็นองค์ประกอบใหญ่ของศาสนาพุทธ โดยในสมัยพุทธกาลคำว่า “พระพุทธศาสนา” เดิมใช้คำว่า “ธรรมวินัย”
คำว่า “ธรรมวินัย” มาจาก “ธรรม” กับ “วินัย” ความสัมพันธ์ระหว่างคำสองคำนี้ หากพิจารณา อย่างลึกซึ้งและถ่องแท้แล้ว ก็จะพบหลักการของพระพุทธศาสนาทั้งหมด
ธรรม คือ ความจริง ที่มีอยู่ตามธรรมดา มีอยู่ตามธรรมชาติ อาจแปลได้หลายอย่าง เช่น แปลว่า ธรรมชาติ, กฎธรรมชาติ, ความเป็นจริง ก็ได้ ความเป็นจริงนี้เป็นกฎแห่งธรรมชาติซึ่งเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เรียกว่า “อิทัปปัจจยตา ปฏิจจยตา” ผลเกิดจากเหตุ และเหตุก่อให้เกิดผล เหตุปัจจัยนี้ทำงานอยู่ตลอดเวลา หากมนุษย์รู้เท่าทันในเหตุปัจจัยและนำไปปฏิบัติในการดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง ด้วยความเข้าใจในกฎแห่งธรรมชาติ ผลดีก็จะเกิดแก่มวลมนุษย์ ทำอย่างไรจึงจะให้มนุษย์ปฏิบัติตามหรือดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง ก็ต้องให้มนุษย์รู้ความจริงหรือรู้ธรรม รู้ความเป็นไปตามเหตุปัจจัยในธรรมชาติ จึงเกิดประโยชน์สูงสุด การที่พระพุทธเจ้าเป็นบุคคลถูกเรียกว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะพระองค์มีความสามารถนำเอาหลักความจริงนั้นมาทำให้เกิดประโยชน์แก่คนหมู่มากอีกด้วย การเผยแผ่แก่คนหมู่มากนี้ พระพุทธเจ้าได้จัดโครงสร้างและวางระบบแบบแผนขึ้น เพื่อให้ชุมชนได้รับประโยชน์จากธรรมการจัดตั้งวางระบบนี้ เรียกว่า วินัย การจัดวางระบบแบบแผนนี้ นับเป็นความสามารถพิเศษของมนุษย์ อย่างไรก็ตามมนุษย์ต้องอาศัยปัญญาเพื่อวางระบบแบบแผนโดยตั้งอยู่บนฐานของธรรม
สรุปในเบื้องต้นว่า “ธรรม” เป็นเรื่องของความจริงที่มีอยู่ มนุษย์ไม่สามารถจัดตั้งหรือทำขึ้นมาได้ ส่วนวินัยเป็นเรื่องที่มนุษย์จัดตั้งหรือสมมุติขึ้น รวมทั้งกฎหมายนั้นเอง
ในทางพุทธศาสนา “สมมุติ” มิใช่เรื่องเหลวไหลเพราะถือเป็นสัจจะเรียกว่า ปรมัตถสัจจะและสมมุติสัจจะ , ปรมัตถสัจจะ คือสัจจะที่เป็นความจริงแท้แน่นอนมีอยู่ในธรรมชาติ , สมมุติสัจจะ คือสัจจะที่เป็นความจริงตามความตกลงยอมรับร่วมกันของมนุษย์
กฎหมายจัดเป็นกฎสมมุติ ของมนุษย์ที่ต้องมีความสัมพันธ์กับกฎธรรมชาติด้วย หากมนุษย์ต้องการให้เกิดผลขึ้น มนุษย์ต้องทำกิจกรรมเพื่อให้ได้ผลนั้น เช่น มนุษย์ต้องการธัญพืช มนุษย์ก็ต้องปลูกธัญพืชนั้น ๆ ดังนั้นการปลูกพืชจึงเป็นเหตุที่ทำให้เกิดผลคือต้นธัญพืช นับเป็นตัวอย่างเปรียบเทียบเรื่องของธรรม เป็นความจริงตามกฎธรรมชาติ
แต่เมื่อมนุษย์มาอยู่ร่วมกันมากขึ้นเป็นสังคมใหญ่ขึ้น หากมนุษย์ต้องการธัญพืชในปริมาณที่มาก ต้องจ้างคนเพื่อมาทำนาขนาดใหญ่ จึงต้องตั้งกฎของมนุษย์ขึ้นว่า การทำนาเป็นเหตุ ส่วนการตอบแทนให้เงินเดือนแก่ลูกจ้างเป็นผล ซึ่งเป็นเหตุเป็นผลจริงในระดับหนึ่งเท่านั้น แต่หากพิจารณาในทางศาสนาให้ลึกลงไปจะพบว่า ที่แท้แล้วไม่จริง กล่าวคือ การทำนาเป็นเหตุ แต่เงินเดือนค่าจ้างมิได้เกิดมาจากการขุดดินปลูกข้า แต่เกิดจากการที่มนุษย์ตั้งเป็นกฎสมมุติร่วมกัน
ดังนั้นกฎของมนุษย์ที่ว่า การทำสวนเป็นเหตุ การได้เงินเป็นผลิ เป็นกฎที่ตั้งอยู่บนสมมุติฐานคือการยอมรับร่วมกัน อารยธรรมของมนุษย์ได้สร้างกฎสมมุติทำนองนี้ขึ้นอย่างมากมาเพื่อให้สังคมมนุษย์ดำรงอยู่ร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งวางกฎสมมุติของมนุษย์ขึ้นนั้น ต้องทำเพื่อช่วยหนุนให้เกิดความมั่นใจที่จะได้ผลตามที่ต้องการตามกฎธรรมชาติ (ความจริงตามธรรม) อันเป็นความมุ่งหมายที่แท้จริงของกฎสมมุติของมนุษย์ หากมนุษย์หลงในสมมุติ คือติดในกฎสมมุติโดยไม่เข้าถึงความจริงของธรรมชาติ มนุษย์ก็แปรกแยกจากธรรมชาติ กลายเป็นความวิปลาสของชีวิตและสังคม
เมื่อมนุษย์มีความสามรถในการวางระบบระเบียบของสังคม(วินัย) มนุษย์จึงตกลงกันให้ตนมีสิทธิ โดยมีกฎหมายมารองรับ เช่น นำแผ่นดินมาแบ่งกันโดยกำหนดให้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินเกิดขึ้น มีกฎหมายมาคุ้มครองสิทธิของบุคคลและภารกิจของสังคมเกิดขึ้น มนุษย์จึงหลงเข้าใจในกฎสมมุติว่าตนมีสิทธิในสิ่งทั้งหลายทั้งปวง
ในทางพุทธศาสนา สิทธิต่าง ๆ ในกฎหมาย เป็นเรื่องที่มนุษย์ตั้งขึ้นเพื่อประโยชน์ของตนและหมู่คณะ จนหลงไปว่ามีความชอบธรรมที่จะไปจัดการกับธรรมชาติได้ตามปรารถนา แต่ความจริงแล้วสิทธิดังกล่าวไม่มีอยู่ เพราะในแง่ของกฎธรรมชาติมนุษย์ไม่มีสิทธิอะไร แม้แต่จะอ้างสิทธิในชีวิตของตนกับธรรมชาติก็ไม่มีผลอะไร การดำเนินชีวิตของมนุษย์ต้องำให้เป็นไปตามกฎธรรมชาติ ตามเหตุปัจจัย
กฎของมนุษย์ คือ กฎหมาย (วินัย) จึงต้องตั้งอยู่บนความจริงของธรรมชาติ (ธรรม) และกฎหมายของมนุษย์ต้องมีไว้เพื่อเข้าถึงและได้ประโยชน์จากธรรมชาติ ในสังคมที่มีความซับซ้อนหรืออารยธรรมที่มีความเจริญ มนุษย์มีการจัดตั้งระบบแบบแผนในสังคมมากขึ้น เช่น ระบบกฎหมาย ระบบเศรษฐกิจ ระบบการเมืองการปกครอง ระบบสังคม เป็นต้น การแยกระบบเป็นหลายด้านเพื่อประสิทธิภาพในเชิงปฏิบัติ แต่กฎแห่งธรรมชาติก็คือความจริงที่รองรับระบบเหล่านี้ทั้งหมด หากจะให้ระบบทั้งหลายนี้ได้ผลอย่างแท้จริง ระบบเหล่านั้นต้องประสานเป็นอันเดียวกันได้บนฐานแห่งความเข้าใจในความจริงตามกฎธรรมชาติ
ปัญหาก็คือ มนุษย์ทั้งหลายต่างคิดและวางระบบบนทฤษฎีคนละอย่างกัน โดยไม่คำนึงว่าแท้จริงแล้ว ต้องพยายามนำทฤษฎีหรือระบบต่าง ๆ ให้เข้าถึงธรรม ทำให้การดำเนินกิจกรรมของมนุษย์ไปในทางแบ่งแยกและแก่งแย่งกัน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการทำให้มนุษย์ประสานระบบต่าง ๆ ให้เข้าถึงธรรม ทำให้การดำเนินกิจกรรมของมนุษย์ไปในทางแบ่งแยกและแก่งแย่งกัน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการทำให้มนุษย์ประสานระบบต่าง ๆ ให้เข้าถึงและสอดคล้องกับหลักความเป็นจริงของธรรมชาติ
กฎหมาย ในความหมายทางพุทธศาสนา จึงมิได้มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่ความเป็นระเบียบเรียบร้อยหรือความสงบเรียบร้อยของสังคมมนุษย์เท่านั้น แต่กฎหมายต้องเป็นสิ่งที่สร้างสภาพที่เอื้อต่อบุคคลในการพัฒนาชีวิตสู่จุดหมายที่ดีงามยิ่ง ๆ ขึ้นไป
ในทางศาสนาได้อธิบายว่า มนุษย์มีท่าทีต่อกฎหมายต่างกัน 3 ระดับ คือ
ระดับที่ ๑ ท่าทีหรือความรู้สึกต่อกฎหมายแบบเป็นเครื่องบังคับ มนุษย์ที่มีท่าทีในลักษณะนี้ในทางพุทธศาสนาอธิบายว่า มนุษย์ผู้นี้ยังไม่มีการพัฒนาตนเอง หรือแสดงว่ายังไม่มีการศึกษา
ระดับที่ ๒ ท่าทีหรือความรู้สึกต่อกฎหมายโดยมองว่า กฎหมายเป็นเรื่องที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อสร้างสภาพที่เอื้อต่อการพัฒนาความสามารถของคนในสังคม เพื่อการมีชีวิตที่ดีงามยิ่ง ๆ ขึ้นไป กรณีนี้คนจะมองกฎหมายเป็นเครื่องฝึกฝนตนในการปฏิบัติให้ชีวิตดีขึ้น
ระดับที่ ๓ ที่ทีที่มองกฎหมายเป็นเพียงสิ่งที่หมายรู้เท่านั้น เพราะมนุษย์พัฒนาจนเกิดมีสติปัญญารู้และเข้าใจว่ากฎเกณฑ์ของสังคมหรือกฎหมายนั้น มีขึ้นเพื่อให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างสันติภายใต้ฐานแห่งธรรม ท่าทีในระดับนี้มนุษย์ได้พัฒนาต้นอย่างสมบูรณ์ เปรียบได้กับพระอรหันต์
ในสังคมมนุษย์ที่เจริญและดีงามนั้น ผู้คนในระดับที่ ๑ จะมีน้อยกว่า
ความหมายของกฎหมายในแง่พุทธศาสนา มีสาระสำคัญพอสรุปได้ดังนี้
๑. คำว่า นิติศาสตร์ แปลว่า วิชากฎหมาย ส่วนในความหมายอย่างกว้างแปลว่าศาสตร์แห่งการนำคนและรัฐ ซึ่งต้องอาศัยเครื่องมือหรือกติกาในการปกครอง
๒. คำว่า ธรรมศาสตร์ หมายถึงคัมภีร์ในศาสนาฮินดู ส่วนในความหมาย อย่างกว้าง หมายถึง วิชาที่ว่าด้วยหลักการแห่งความเป็นจริงที่มีอยู่ในธรรมชาติและหลักการที่มนุษย์นำมาเป็นแบบแผนให้คนปฏิบัติ
๓. หลักการพื้นฐานทางพุทธศาสนาคือ ธรรมวินัย โดยคำว่า วินัย ทางพุทธศาสนานั้นมีความหมายใกล้เคียงกับคำว่ากฎหมาย เนื่องจาก วินัย คือการจัดโครงสร้าง วางระเบียบแบบแผนของสังคม ส่วนคำว่า ธรรม คือความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดาหรือตามธรรมชาติ
๔. มนุษย์มีความสามารถในการวางระบบระเบียบกฎเกณฑ์ของสังคม และมนุษย์ยังตกลงกันเองว่า ตนมีสิทธิต่าง ๆ ซึ่งในทางพุทธศาสนามองว่า มนุษย์นั้นไม่มีสิทธิใด ๆ และไม่มีสิทธิที่จะไปกำหนดสิทธิใด ๆ ทั้งนี้เพราะสิทธิต่าง ๆ ที่มนุษย์กำหนดขึ้นนั้น เป็นการกำหนดก็แต่เพื่อประโยชน์ของตนเองและหมู่คณะเท่านั้น สิทธิเหล่านั้นอ้างกับธรรมชาติไม่ได้แต่อย่างใดเลย
๕. ระบบต่าง ๆ ที่มีอยู่ในสังคมรวมทั้งกฎหมายนั้น แท้จริงแล้วจะต้องประสานและสอดคล้องกับหลักความจริงแห่งธรรมในพุทธศาสนา
๖. กฎหมายในทางพุทธศาสนาต้องเป็นกฎเกณฑ์ที่สร้างสภาพที่เอื้อต่อบุคคลในการพัฒนาชีวิตมนุษย์ให้ไปสู่จุดหมายที่ดีงามยิ่งขึ้นไป และต้องสอดคล้องกับหลักความจริงแห่งธรรมด้วย
๗. หากมนุษย์พัฒนาตนโดยหลักธรรมในศาสนาจนเกิดสติปัญญารู้แจ้งเห็นจริงแล้วกฎหมายจะเป็นเพียงสิ่งที่หมายรู้สำหรับมนุษย์เท่านั้น
การศึกษาความหมายของกฎหมายในทางพุทธศาสนา เป็นเครื่องยืนยันให้มนุษย์ตระหนักถึงหลักแห่งความเป็นธรรม และถูกต้องที่อยู่ภายในจิตใจของมนุษย์ทุกคน โดยการศึกษาและปฏิบัติตามหลักคำสอนของศาสนา เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจและทำให้สังคมมีความสงบสุข
๒. ความสำคัญของกฎหมาย
การพิจารณาความสำคัญของกฎหมาย สืบเนื่องมาจากความหมายของกฎหมายที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น อาจแบ่งความสำคัญของกฎหมายได้ดังต่อไปนี้
๒.๑ ความสำคัญของกฎหมายในเรื่องความยุติธรรม
เนื่องจากกฎหมายเป็นกฎเกณฑ์สำคัญในการควบคุมความประพฤติของมนุษย์ เมื่อเกิดข้อขัดแย้งหรือพิพาทกันขึ้น ใช้กฎหมายเป็นเครื่องตัดสิน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย อริสโตเติ้ล กล่าวว่า “อยุติธรรมย่อมเกิดขึ้นเมื่อความเท่ากันถูกทำให้ไม่ทัดเทียมกัน และเมื่อความไม่เท่ากันถูกทำให้กลายเป็นความทัดเทียมกัน” ดังนั้น จึงถือว่าเป็นหลักว่า “สิ่งที่เหมือนกันควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน” ในบทเริ่มต้นประมวลกฎหมายจัสติเนียน ก็กล่าวว่า “ความยุติธรรมคือเจตจำนงอันแน่วแน่ตลอดกาลที่จะให้แก่ทุกคนตามส่วนที่เขาควรจะได้”
อริสโตเติ้ล ได้อธิบายเรื่องความยุติธรรมไว้ โดยจำแนกเป็น ๒ ลักษณะ คือ
๒.๒.๑ ความยุติธรรมในเชิงแบ่งสันปันส่วน
ความยุติธรรมในลักษณะนี้ เกี่ยวข้องกับการแบ่งสันปันส่วนในทรัพย์สิน ในสิทธิหน้าที่ในเกียรติยศหรืออำนาจในสังคม โดยต้องคำนึงถึงความแตกต่างของแต่ละบุคคล ประกอบกับคุณธรรม ความสามาหรือผลงานต่าง ๆ ของบุคคลนั้น คนที่มีความสามารถหรือมีผลงานเสมอเหมือนกันเท่านั้นที่สมควรได้รับผลตอบแทนเท่ากัน ความยุติธรรมในลักษณะนี้จึงปรากฏแฝงอยู่ในกฎหมายต่าง ๆ อาทิ เข่น กฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา กฎหมายภาษี กฎหมายกำหนดราคาสินค้า กฎหมายกำหนดค่าจ้าง ล้วนแต่เป็นกฎหมายที่เป็นการแบ่งสรรปันส่วน ที่ต้องคำนึงเรื่องความด้อยกว่าหรือความเหนือกว่าในเรื่องความสามารถของบุคคลด้วยเสมอ
๒.๒.๑ ความยุติธรรมในเชิงชดเชยหรือทดแทน
เป็นความยุติธรรมที่สืบเนื่องมาจากความยุติธรรมเชิงแบ่งสันปันส่วน กล่าวคือเมื่อมีการล่วงเกินเบียดเบียนส่วนของผู้อื่นเกิดขึ้นและเกิดเป็นความเสียหาย จึงจำเป็นที่ต้องมีการแก้ไขให้กลับคืนสู่ความเป็นธรรม ความยุติธรรมในเชิงทดแทนจึงมีขึ้น เพื่อสนับสนุนรักษาความยุติธรรมในการแบ่งสันปันส่วน กฎหมายจะสะท้อนความยุติธรรมในลักษณะนี้ โดยให้มีผู้ทำหน้าที่ให้ความยุติธรรม เช่น เมื่อมีการผิดทางอาญาเกิดขึ้นศาลจะตัดสินลงโทษทางอาญาแก่ผู้กระทำความผิด หรือเมื่อมีการผิดสัญญาในทางแพ่งหรือเกิดการละเมิดขั้นศาลจะตัดสินให้ผู้กระทำผิดชดใช้ค่าเสียหรือค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ที่เสียหาย โดยศาลยึดหลักความยุติธรรมตามกฎหมายในลักษณะนี้ มาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาชดเชยหรือทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้น
ปัญหาก็คือ การเกิดข้อถกเถียงกันว่า การแบ่งสันปันส่วนและการชดเชยหรือทดแทนตามกฎหมายเหล่านี้ ถือว่าเป็นธรรมหรือไม่ โดยเฉพาะแนวความคิดแบบสังคมนิยมของ คาร์ล มาร์กซ์ ที่ปฏิเสธความยุติธรรมแบบนี้ เพราะถือว่าเป็นความยุติธรรมแบบนายทุนอย่างไรก็ดีหากศึกษาความหมายของความยุติธรรมในสังคมไทยที่น่าสนใจอย่างยิ่ง โดยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระบรมราโชวาทเกี่ยวกับกฎหมายและความยุติธรรมไว้หลายครั้ง อาทิ เช่น “กฎหมายเป็นแต่เครื่องมือในการรักษาความยุติธรรม ควรจะต้องถือว่าความยุติธรรมมาก่อนกฎหมายและอยู่เหนือกฎหมาย” “กฎหมายไม่ใช่ตัวความยุติธรรม หากเป็นแต่เพียงบทบัญญัติหรือปัจจัยที่ตราไว้เพื่อรักษาความยุติธรรม” “...การที่อยู่กับกฎหมายและใช้กฎหมายมาก ๆ นั้น คือเห็นว่าตัวบทกฎหมายนั้นจะให้ความยุติธรรมได้อย่างสมบูรณ์ที่จริงกฎหมายเป็นเพียงบทบัญญัติอย่างกลาง ๆ สำหรับอาศัยเป็นหลักวินิจฉัยในการอำนวยความยุติธรรมเท่านั้น หาใช้ปัจจัยสำคัญสิ่งเดียวในการให้ความยุติธรรมไม่”
๒.๒ ความสำคัญของกฎหมายในชีวิตประจำวัน
โดยเหตุที่มนุษย์ทุกคนมีความคิดและการกระทำที่เป็นอิสระ หากทุกคนกระทำการใด ๆ ตามอิสระจนเกินขอบเขต ก็อาจก่อให้เกิดการรบกวนและความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นได้ ดังนั้นการกำหนดขอบเขตของความอิสระ ในการกระทำจึงต้องมีมาตรฐานเดียวกัน ที่ทุกคนจำต้องปฏิบัติตามมิให้ล่วงล้ำขอบเขตที่กำหนดไว้ ลักษณะของกฎเกณฑ์ที่เป็นการกำหนดขอบเขตดังกล่าว แทรกอยู่ในชีวิตประจำวัน โดยที่บางครั้งเราอาจไม่รู้ตัวก็ได้ ดังจะเห็นได้จากเมื่อมีการเกิด กฎหมายกำหนดว่า ให้เจ้าบ้านหรือมารดาต้องไปแจ้งเกิดเพื่อขอสูติบัตร เมืออายุครบ ๑๕ ปีบริบูรณ์ต้องทำบัตรประจำตัวประชาชน การจดทะเบียนสมรสมีผลต่อการเป็นสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายและมีผลต่อการจัดการทรัพย์สินระหว่างที่เป็นสามีภริยารวมทั้งผลต่อบุตรด้วย
นอกจากนั้นในชีวิตประจำวันยังมีความเกี่ยวพันกับกฎหมายอีกมาก เช่น ไปทำงานโดยขึ้นรถประจำทางก็ต้องเกี่ยวข้องกับกฎหมายเรื่องรับขนคนโดยสารหรือกฎหมายจราจรทางบก เมื่อไปทำงนเป็นลูกจ้างก็ต้องเกี่ยวข้องกับกฎหมายแรงงาน เมื่อไปซื้อสินค้าก็ต้องใช้หรือเกี่ยวข้องกับกฎหมายเรื่องซื้อขาย หากมีรายได้ถึงเกณฑ์ก็ต้องมีหน้าที่เสียภาษีอากร หน้าที่ของชายต้องรับราชการทหาร จนถึงแก่กรรมทรัพย์สินที่มีอยู่ตกอยู่ในกองมรดก หรือพินัยกรรมแล้วแต่กรณี เป็นต้น ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า กฎหมายไม่ใช้เรื่องที่อยู่ไกลตัว
๒.๓ ความสำคัญของกฎหมายที่มีต่อรัฐ
กฎหมายเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการปกครองและใช้เป็นกลไกในการรักษาผลประโยชน์ในสังคมให้มีความสมดุลกันจากความต้องการและความขัดแย้งของผลประโยชน์ต่าง ๆ ในสังคมจึงอาจกล่าวได้ว่า กฎหมายเปรียบประหนึ่งเป็นวิศวกรรมสังคม โดยการจัดระบบผลประโยชน์ต่าง ๆ ในสังคมมาคานกันเพื่อให้เกิดความสมดุล และขัดแย้งกันน้อยที่สุด การที่รัฐต้องออกกฎหมายในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อตอบสนองผลประโยชน์ต่าง ๆ ของสังคมและเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างสูงสุด ทำให้เกิดการพัฒนาด้านต่าง ๆ ดังนั้นหากประชาชนพลเมืองทุกคนเรียนรู้ตระหนักและปฏิบัติตามกฎหมาย กฎย่อมทำให้ประเทศมีความมั่นคงและเจริญก้าวหน้า
ความสำคัญของกฎหมายยังอาจมีได้อีกหลายประการ ขึ้นอยู่กับการแบ่งในเรื่องความสำคัญของกฎหมาย นอกจานี้ในทางนโยบายกฎหมาย โดยทั่วไปถือว่า “บุคคลจะปฏิเสธว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้” โดยเฉพาะในทางอาญา กฎหมายมิได้ให้อ้างความไม่รู้กฎหมายเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้กระทำผิด มินั้นหากเปิดโอกาสให้แก้ตัวว่าไม่รู้ว่ามีกฎหมายบัญญัติไว้ แล้วมีการกระทำผิดเกิดขึ้น การบังคับใช้กฎหมายจะไม่ได้ผล อาจเกิดความไม่สงบเรียบร้อยวุ่นวายขึ้นในสังคม แต่อย่างไรก็ตาม กฎหมายังเปิดโอกาสให้ผู้ที่อ้างว่ากระทำผิดโดยไม่รู้ว่ามีกฎหมายบัญญัติไว้ อาจแสดงพยานหลักฐานต่อศาลได้และหากศาลเชื่อว่าเขาไม่รู้ว่ามีกฎหมายบัญญัติไว้จริง ก็อาจได้รับการลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๔๖ แต่ความผิดที่อ้างว่าไม่รู้เช่นนี้ ต้องไม่ใช่ความผิดในตัวเอง เช่น ฆ่าคนตาย หรือลักทรัพย์แล้วอ้างว่าไม่รู้ว่าเป็นความผิดดังนี้อ้างไม่ได้

ไม่มีความคิดเห็น: